วันพฤหัสบดี

การเลี้้ยงปลากดเหลือง

                            การเลี้้ยงปลากดเหลือง

ปลากดเหลือง 

  ลักษณะทั่วไป
     ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง  มีราคาดี  เนื้อมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในสภาพสดและแปรรูป  เช่น  แกงเหลือง  ฉู่ฉี่  ย่าง  มีชื่อสามัญว่า  Green  Catfish  และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Mytus  nemurus ได้รับการตั้งชื่อครั้งแรกโดย  Cuvier  และ  Valencieness  ในปี  2436  ปลากดเหลืองมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น  ซึ่งชาวประมงแถบจังหวัดกาญจนบุรี  เรียกว่า  ปลากดกลางหรือปลากลาง  แถบจังหวัดฉะเชิงเทรา  และชลบุรีเรียกว่า  ปลากดนาหรือปลากดเหลือง  แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า  ปลากดฉลอง  แถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส  เรียกว่า  อีแกบาวง  แต่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกว่าปลากดเหลือง


การเลี้ยงในบ่อดิน
     การเลี้ยงในบ่อดินควรปรับสภาพบ่อ   โดยใช้หลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป  ดังนี้
     1. ตากพื้นบ่อให้แห้ง  พร้อมทั้งปรับสภาพก้นบ่อให้สะอาด
     2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดินโดยใส่ปูนขาว  ในอัตราประมาณ  60-100  กิโลกรัม/ไร่ 
     3. ใส่ปุ๋ยคอก  เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ  สำหรับลูกปลาควรใส่ปุ๋ยคอกในอัตราประมาณ 40-80 กิโลกรัม/ไร่
     4. นำน้ำเข้าบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูปลาติดมากับน้ำ  ระดับน้ำลึก 30-40  ซม.  วันรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลา และเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกิน ควรเติมไรแดงในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม/ไร่  หลังจากนั้นจึงให้อาหารผสมแก่ลูกปลา  ก่อนที่จะนำลูกปลามาเลี้ยง  ควรตรวจดูว่าลูกปลาแข็งแรงและไม่มีโรค
    
การปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยง  จะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุง และในบ่อให้เท่าๆกันก่อน  โดยแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ  30 นาที  จึงปล่อยลูกปลา  เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลา  ควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า
    
การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินขนาด 2 ไร่  จำนวน 2 บ่อ  ของเกษตรกรอำเภอคลองหอยโข่ง  จังหวัดสงขลา  ในอัตราการปล่อยปลาขนาดความยาว  15-17  ซม.  น้ำหนักระหว่าง 22-42 กรัม  ตารางเมตรละ  1  ตัว  หรือไร่ละ  1,600 ตัว  โดยให้อาหารจำพวกปลาเป็ดสับ  ผสมวิตะมินและแร่ธาตุ  ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 7 เดือน  จึงจับปลาจำหน่าย  ได้น้ำหนักปลาทั้งสิ้น  2,125  กิโลกรัม  ได้ปลา  5,110  ตัว  อัตราการรอดตาย  78.82  เปอร์เซ็นต์  โดยใช้ปริมาณอาหารทั้งหมด 9,562  กิโลกรัม  มีอัตราแลกเนื้อ (FCR)  เท่ากับ  1:45  

 ต้นทุนและผลตอบแทน
     การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดิน  จากปลาขนาดความยาว 15-17 ซม.  น้ำหนักเฉลี่ย  32 กรัม/ตัว  โดยให้ปลาเป็ด  ไส้ไก่  วิตามินและแร่ธาตุ  เป็นอาหาร  พบว่าในระยะเวลา  7 เดือน  ได้ผลผลิตปลาขนาดเฉลี่ย  2.4 ตัว/ กิโลกรัม  ไร่ละประมาณ  1,062.5  กิโลกรัม  คิดเป็นรายได้  63,750 บาท  โดยมีต้นทุนที่เป็นเงินสด 31,372.5 บาท/ไร่  ต้นทุนรวมทั้งสิ้น  ไร่ละ  49,125.02  บาท  รายได้เหนือต้นทุนที่เป็นเงินสด  32,377.5  บาท/ไร่  มีกำไรสุทธิไร่ละ  14,625  บาท  และคิดเป็นผลตอบแทนต่อการลงทุนประมาณ  29.77  เปอร์เซ็นต์

 การเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชัง  ขนาดกระชัง  3X4X1.8 เมตร  ปล่อยปลารุ่นอายุ 4 เดือน  ในระยะเวลา 120 วัน  ได้ผลผลิต  462.38  กิโลกรัม  คิดเป็นรายได้  16,402.63  บาท  รายได้สุทธิ  12,322.78 บาท  รายได้เหนือต้นทุนที่เป็นเงินสด  13,919.25  บาท  กำไรสุทธิ  11,340.17  บาท  คิดเป็น  ผลตอบแทนต่อการลงทุน  69.14  เปอร์เซ์นต์
  
การเลี้ยงปลารุ่นในกระชัง
     สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสงขลา  ทดลองเลี้ยงปลากดเหลืองให้เป็นปลารุ่นในกระชังตาข่ายพลาสติก ขนาด  2x3x1.5  เมตร  ปลาความยาวเฉลี่ย7.17 ซม.  น้ำหนักเฉลี่ย3.14 กรัม  อัตรการปล่อย  300 ตัว/กระชัง  เปรียบเทียบอาหารเนื้อปลาสดสับกับอาหารเม็ดปลากินเนื้อ  ในระยะเวลา 6 เดือน  พบว่า  ปลาที่เลี้ยงด้วยเนื้อปลาสดสับ  มีอัตราการเจริญเติบโตดีมากคือมีน้ำหนักเฉลี่ย 83.87 กรัม  อัตรารอดตาย  73.79 เปอร์เซ็นต์  อัตราแลกเนื้อ 4.98  คิดเป็นต้นทุนอาหาร  24.90  บาท/ กิโลกรัม  (ปลาสดราคากิโลกรัมละ 5 บาท)

 ในขณะที่การเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดปลากินเนื้อ ปลาที่เลี้ยงมีน้ำหนักเฉลี่ย 72.61 กรัม  อัตรารอดตาย 59.29 เปอร์เซ็นต์ อัตราแลกเนื้อ 2.76 คิดเป็นต้นทุนอาหาร  33.12 บาท/กิโลกรัม (อาหารเม็ดปลากินเนื้อราคากิโลกรัมละ  12 บาท)
ที่มา.. http://www.fisheries.go.th/